วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การอ่านจับใจความ

การอ่านจับใจความ
ความหมายของการอ่านจับใจความสำคัญ
คือ การอ่านเพื่อจับใจความหรือข้อคิด ความคิดสำคัญหลักของข้อความ หรือเรื่องที่อ่าน เป็นข้อความที่คลุมข้อความอื่น ๆ ในย่อหน้าหนึ่ง ๆ ไว้ทั้งหมด
ใจความสำคัญ  หมายถึง ใจความที่สำคัญ และเด่นที่สุดในย่อหน้า เป็นแก่นของย่อหน้าที่สามารถครอบคลุมเนื้อความในประโยคอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือประโยคที่สามารถเป็นหัวเรื่องของย่อหน้านั้นได้ ถ้าตัดเนื้อความของประโยคอื่นออกหมด หรือสามารถเป็นใจความหรือประโยคเดี่ยวๆ ได้ โดยไม่ต้องมีประโยคอื่นประกอบ ซึ่งในแต่ละย่อหน้าจะมีประโยคในความสำคัญเพียงประโยคเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน  2 ประโยค
ใจความรอง หรือพลความ(พน-ละ-ความ) หมายถึง ใจความ หรือประโยคที่ขยายความประโยคใจความสำคัญ เป็นใจความสนับสนุนใจความ    อ่านเพิ่มเติม

การอ่านคำประพันธ์

การอ่านคำประพันธ์

การอ่านคำประพันธ์
การอ่านบทร้อยกรอง การอ่านทำนองเสนาะ
                บทร้อยกรอง หมายถึง เรื่องราวที่เรียบเรียงให้เกิดความไพเราะตามระเบียบบัญญัติ แห่งฉันทลักษณ์หรือระเบียบ ที่ว่าด้วยการประพันธ์   บทร้อยกรองแต่ละชนิด จะมีลักษณะ สัมผัสบังคับแตกต่างกันตามชนิดของคำประพันธ์
การอ่านกลอนสุภาพ
ลักษณะของกลอนสุภาพ คือ บทหนึ่งมีสี่วรรค วรรคละ ๘ พยางค์ การอ่านกลอนสุภาพ มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
กลอนสุภาพแต่ละวรรค โดยปกติให้อ่านเว้นจังหวะเป็น ๓ / ๒ / ๓ แต่ถ้าวรรคนั้นมี
๙ พยางค์ ให้อ่านเว้นจังหวะ ๓ / ๓ / ๓ และถ้าวรรคนั้นมี ๗ พยางค์ ให้อ่าน ๒ / ๒ / ๓ เป็นต้น
   หมายเหตุ   มีบทร้อยกรองที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลอนสุภาพและมีวิธีออกเสียง สูงต่ำเช่นเดียวกัน ได้แก่ กลอนสักวาและกลอนดอกสร้อย
การอ่านโคลงสี่สุภาพ
บทประพันธ์ที่มีลักษณะเป็นโคลงสี่สุ  อ่านเพิ่มเติม

คำสรรพนาม

คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามเพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำๆ แบ่งเป็น 7 ชนิด คือ
1.สรรพนามแทนผู้พูด ผู้ฟัง และผู้ที่กล่าวถึง(บุรุษสรรพนาม)
ได้แก่
สรรพนามบุรุษที่ 1 แทนชื่อผู้พูด เช่น ฉัน ดิฉัน อิฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า เรา อาตมา เกล้ากระผม เกล้ากระหม่อม ฯลฯ
สรรพนามบุรุษที่ 2 แทนชื่อผู้ฟัง เช่น คุณ เธอ ท่าน เจ้า แก โยม พระคุณเจ้า ฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ฯลฯ
สรรพนามบุรุษที่ 3 แทนชื่อผู้กล่าวถึง เช่น มัน เขา ท่าน เธอ แก พระองค์ท่าน ฯลฯ
2.สรรพนามชี้เฉพาะ(นิยมสรรพนาม)
สรรพนามชนิดนี้ใช้แทนนามที่อยู่ใก    
อ่านเพิ่มเติม

คำเป็น คำตาย

คำเป็น   คือ   พยางค์ทีประสมกับสระเสียงยาวในแม่   ก   กา   และพยางค์ที่มีตันสะกดใน   แม่  กน   กง   กม   เกย   และสระ   อำ   ไอ   ใอ   เอา
คำตาย   คือ   พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่   ก   กา   กก   กด   กบ   แต่ยกเว้นสระ   อำ   ไอ   ใอ   เอา  อ่านเพิ่มเติม

การเขียนจดหมาย

การเขียนเพื่อการสื่อสาร
การเขียนจดหมาย ข่าว ประกาศและแจ้งความ 
     การเขียนจดหมายเป็นการสื่อสารโดยตรงระหว่างบุคคลหรือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ  ช่วย ทำให้ระยะทางไกลเป็นใกล้ เพราะไม่ว่าบุคคลหรือหน่วยงานจะห่างไกลกันแค่ไหนก็สามารถใช้จดหมายส่งข่าว คราวและแจ้งความประสงค์ได้ตามความต้องการ การส่งสารหรือ ข้อความในจดหมายต้องเขียนให้แจ่มแจ้งชัดเจน เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย
องค์ประกอบและรูปแบบของจดหมาย
     ผู้เขียนคงเคยเขียนจดหมายหรืออ่านจดหมายมาบ้างแล้ว คงจะสังเกตเห็นว่าจดหมาย นั้นไม่ว่าประเภทใด จะต้องประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้   อ่านเพิ่มเติม

การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง      

ใช้คำให้ถูกต้องตรงตามความหมาย   กล่าวคือ ก่อนนำคำไปเรียงเข้าประโยค ควรทราบความหมายของคำคำนั้นก่อน เช่น คำว่า ปอก” กับ ปลอก” สองคำนี้มีความหมายไม่เหมือนกัน คำว่า ปอกเป็นคำกริยา แปลว่า เอาเปลือกหรือสิ่งที่ห่อหุ้มออก แต่คำว่า ปลอก” เป็นคำนาม แปลว่า สิ่งที่ทำสำหรับสวมหรือรัดของต่างๆ เป็นต้น ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ 
                                    “วันนี้ได้พบกับท่านอธิการบดี ผมขอฉวยโอกาสอันงดงามนี้เลี้ยงต้อนรับท่านนะครับ” (ที่จริงแล้วควรใช้ ถือโอกาส เพราะฉวยโอกาสใช้ในความหมายที่ไม่ดี
            2 ใช้คำให้เหมาะสม    เลือกใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและเหมาะสมกับบุคคล เช่นโอกาสที่เป็นทางการ โอกาสที่เป็นกันเอง หรือโอกาสที่เป็นภาษาเ  อ่านเพิ่มเติม

คำควบกล้ำ

คำควบกล้ำ



           คำควบกล้ำ (อักษรควบ) หมายถึง พยัญชนะสองตัวเขียนเรียงกันอยู่ต้นพยางค์ และใช้สระเดียวกัน เวลาอ่านออกเสียงกล้ำเป็นพยางค์เดียวกัน เสียงวรรณยุกต์ของพยางค์นั้นจะผันเป็นไปตามเสียงพยัญชนะตัวหน้า
พยัญชนะสองตัวเรียงกัน
มี 
ร ล ว ควบกับตัวหน้า
 
ร่วมสระผันในหลักภาษา
เสียงที่ออกมาร่วมฟ้าเดียวกัน
           ข้อสังเกตว่าเป็นคำควบกล้ำ
1. คำควบกล้ำเวลาสะกดต้องมีพยัญชนะต้นสองตัว โดยจะมี   ล ว รวมอยู่ในพยัญชนะต้น
    
เช่น      าบ    สะกดว่า      + อา + บ      อ่านว่า       กราบ
  
              แป   สะกดว่า    ป + แอ + ง        อ่านว่า      แปรง            อ่านเพิ่มเติม

การเขียนเรียงความ

สำหรับนักอยากเขียนทั้งหลาย เวทีประกวดเขียนเรียงความมากมาย นอกจากจะเป็นสนามประลอง ฝึกฝีมืออย่างดีแล้ว เผลอๆ ถ้าชนะได้เงินรางวัลเป็นค่าขนมค่าน้ำหมึก ชื่อขึ้นเข้าชั้นทำเนียบนักเขียนหน้าใหม่ไฟแรงละก้อ โอกาสแจ้งเกิดก็อยู่ไม่ไกล ปัญหาแรกที่มักเจอกับนักอยากเขียนหน้าใหม่ๆ คือ การเริ่มต้น ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และเมื่อเริ่มต้นไม่ได้ ความหวังที่จะเขียนเนื้อเรื่องต่อไปได้ ก็แสนจะริบหรี่ แต่อย่าท้อ ขอให้เริ่ม! จรดปากกาลงไป แล้วเขียนอะไรสักประโยค หรือหลายๆ ประโยคก็ได้ อาจไม่ใช่ทุกประโยคที่เริ่มเขียนจะใช้ได้ แต่อาจมีบางคำ บางประโยค หรือบางประเด็นความคิดที่น่าสนใจ แล้วนำม   อ่านเพิ่มเติม

การแต่งกลอนสุภาพ

คณะของกลอนสุภาพ
              หนึ่งบทมี ๔ วรรค วรรคละ ๘- ๙ พยางค์ ๘ พยางค์ไพเราะที่สุดสัมผัสบังคับของ
กลอนสุภาพเป็นสัมผัสสระตามแผนผัง


สัมผัสนอก 
              ความหมายก็คือสัมผัสนอกวรรคและนอกบท เป็นเสียงสัมผัสสระที่บังคับระหว่างวรรคและระหว่างบท



สัมผัสใน
              สัมผัสในหมายถึงเสียงสัมผัสคล้องจองภายในวรรคเดียวกันประกอบด้วยเสียงสระและเสียงพยัญชนะ ช่วยทำให้กลอนมีความไพเราะรื่นหู ไม่ได้บังคับไว้ในฉันทลักษณ์ กลอนของสุนทรภู่จะมีลักษณะโดดเด่นในเรื่องสัมผัสในมากที่สุด ผู้รู้ตั้งข้อสังเกตว่ากลอนสุภาพที่โดดเด่นด้านสัมผัสในนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก "ปัฐยาวัตตฉันท์" ของภาษาบาลีและรวมกลบทเรื่อง "กลบทศิริวิบุลกิติติ์" ของ หลวงศรีป   อ่านเพิ่มเติม

นิราศนรินทร์คำโคลง



หน่วยการเรียนรู้ที่ ๔
นิราศนรินทร์คำโคลง

๑.ความเป็นมา
                นิราศนริทร์คำโคลง แต่งขึ้นโดยนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) มหาดเล็กหุ้มแพร รับราชการวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ ๒ นายนรินทรธิเบศร์แต่งนิราศเรื่องนี้ขึ้นเมื่อคราวตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่าซึ่งยกลงมาที่เมืองถลางและชุมพร โดยเริ่มเรื่องด้วยร่ายสุภาพยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แล้วกล่าวถึงความเจริญของบ้านเมือง จากนั้นจึงรำพันถึงการจากนางอันเป็นที่รักและพรรณนาสถานที่ที่ผ่านไป นิราศเรื่องนี้นับว่าเป็นนิราศที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีสำนวนโวหารไพเราะและมีคุณค่าในด้านวรรณศิลป์ จึงได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของนิราศคำโคลง เหมาะสำหรับการนำไปเป็นแบบอย่างในการประพันธ์โคลงที่มีเนื้อหาเป็นการพรรณนาอารมณ์ ความรัก และธรรมชาติ ที่คงรูปแบบทางฉันท์ลักษณ์ของร้อยกรองไทยได้เป็นอย่างดี
        หนังสือประเภทนิราศ สันนิษฐานว่ามีมาช้านานและปรากฏในหลายชาติภาษา ด้วยบุคคลที่เป็นกวีนั้น เมื่อต้องเดินทางย่อมคิดอ่านที่จะพรรณนาถึงความรู้สึกต่างๆ ที่ตนเองมี หากเป็นการเดินทางชนิดที่ต้องพลัดพรากด้วยแล้ว อารมณ์สะเทือนใจจะยิ่งสูงเป็นพิเศษ นอกจากนี้การเดินทางยังเป็นแหล่งข้อมูลอย่างดีที่กวีสามารถนำมาร้อยเรียงเล่าเรื่องได้อย่างเพลิดเพลิน หนังสือที่แต่งตามขนบของนิราศนั้นมีปรากฏมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น แต่งสมัยพระเจ้าปราสาททอง,แต่งในเมฆทูตสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนอกจากนี้ยังมีโคลงทวาทศมาสเป็นต้น นิราศหลายเรื่องจะตั้งชื่อขึ้นด้วยด้วยคำว่า นิราศ ดังปรากฏให้เห็นอยู่แล้วในบทความอย่างไรก็ตามยังมีนิราศอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้ตั้งชื่อหรือเรียกชื่อว่านิราศเช่นรำพันพิลาป เป็นต้น

๒.ลักษณะการแต่ง
                โคลงนิราศนรินทร์แต่งเป็นร่ายสุภาพ  ๑  บท    และต่อด้วยโคลงสี่สุภาพ  ๑๔๑  บท    กับมีโคลงปลีกต่อท้ายอีก  ๓  บท   ซึ่งน่าจะเป็นสำนวนผู้อื่นแต่งเพิ่มภายหลัง   
    ๒.๑ ร่ายสุภาพ
                ร่ายสุภาพนี้นิยมแต่งกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน มีการนำร่ายสุภาพไปเป็นส่วนหนึ่งของลิลิตเช่น ในลิลิตพระลอ ลิลิตตะเองพ่าย เป็นต้น
คณะบทหนึ่งมี ๕ วรรคขึ้นไป วรรคละ ๕ คำ จะมีกี่วรรคก็ได้ แต่เมื่อจบจะต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพ
สัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้า ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ของวรรคต่อไป
คำสร้อย เติมได้ ๒ คำ ตอนจบบท
                
    ๒.๒ โคลงสี่สุภาพ 
                โคลงสี่สุภาพ  มีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้


๓. จุดมุ่งหมายการแต่ง
                คร่ำครวญและพรรณนาความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ที่มีต่อนางอันเป็นที่รัก ด้วยสำนวนโวหารอันไพเราะ มีความประณีตในการสรรคำและความหมายนิราศนรินทร์จึงได้รับความยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดของนิราศ
๔.ประวัติผู้แต่ง
                นิราศนรินทร์คำโคลง เป็นนิราศที่มีชื่อเสียงที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีความไพเราะเป็นเยี่ยม แต่เป็นที่หน้าเสียดายว่าความรู้เกี่ยวกับประวัติผู้แต่งนั้นไม่สู้ชัดเจนนักนอกจากปรากฏอยู่ในโคลงท้ายเรื่องว่า
โคลงนิราศเรื่องนี้                  นรินทร์อิน
รองบาทบวรวังถวิน                                           ว่าไว้
               
นายนรินทรธิเบศร์ เดิมชื่อ อิน ได้รับราชการเป็น มหาดเล็ก ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพรมีบรรดาศักดิ์ที่ นายนรินทรธิเบศร์ จึงมักเรียกกันว่า นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) คือใส่ชื่อเดิมเข้าไปด้วย
นายนรินทรธิเบศร์เป็นผู้แต่งนิราศคำโคลง ที่เรียกกันว่านิราศนรินทร์ตามชื่อผู้แต่ง ทว่าประวัติของ นายนรินทรธิเบศร์ไม่ปรากฏรายละเอียดมากนัก ทราบแต่ว่ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 2 เท่านั้น
ในชั้นหลังเราได้ทราบประวัติของท่านจากหนังสือนิราศนรินทร์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุ  ภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ โดยทรงเล่าเพิ่มเติมว่า “…นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ไม่ใคร่จะได้แต่งหนังสือไว้มาก นัก และแต่งไว้บ้างก็ล้วนแต่เป็นโคลง ที่ปรากฏว่าเป็นกลอนนั้นน้อยเต็มที โคลงยอพระเกียรติตอนท้าย หนังสือปฐมมาลา ก็เป็นฝีปากของนายนรินทร์ (อิน) จึงสันนิษฐานว่านายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ชอบโคลง มากกว่าคำประพันธ์อื่นๆ
ผลงานการประพันธ์ของนายนรินทรธิเบศร์นั้นไม่ปรากฏแพร่หลาย แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงรา ชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า “..ส่วนที่แต่งไว้ในที่อื่นๆ นั้น ไม่มีที่ใดจะเปรียบกับโคลงนิราศนี้ได้แต่ทรงมิได้ ระบุว่านายนรินทร์ได้แต่งเรื่องอื่นใดไว้นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น

๕.เรื่องย่อ
                  นายนรินทรธิเบศร์ (อิน)  แต่งนิราศเรื่องนี้ขึ้นเมื่อตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่าซึ่งยกลงมาที่เมืองถลางและชุมพร  โดยเริ่มเรื่องด้วยร่ายสุภาพยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์  แล้วกล่าวถึง  ความเจริญของบ้านเมือง  จากนั้นจึงรำพันถึงการจากนางอันเป็นที่รักและพรรณนาสถานที่ที่ผ่านไป
          นายนรินทรธิเบศร์ (อิน)  ได้ออกเดินทางเริ่มต้นจากคลองขุดผ่านวัดแจ้ง  คลองบางกอก (ใหญ่)  วัดหงส์  วัดสังข์กระจาย  บางยี่เรือ (คลอง) ด่านนางนอง บางขุนเทียน บางบอน บางหัวกระบือ โคกขาม คลองโคกเต่า มหาชัย ท่าจีน บ้านบ่อ นาขวาง คลองสามสิบสองคด คลองย่านซื่อ แม่กลองปากน้ำ (ออกทะเล) บ้านแหลม คุ้งคดอ้อย เพชรบุรี ชะอำ ห้วยขมิ้น ท่าข้าม เมืองปราณ (บุรี) สามร้อยยอด ทุ่งโคแดง (ทุ่งวัดแดง) อ่าวนางรม (อ่าวประจวบ) บางสะพาน ขามสาวบ่าว อู่แห้ง เขาหมอนเจ้า โพสลับ ลับยักษ์ เมืองแม่น้ำ อู่สะเภา หนองบัว แก่งตุ่ม แก่งคุลาตีอก แก่งแก้ว (แก่งแก้วสงสาร) แก่งนางครวญ ปากน้ำ (ร่วม) เขาเพชร จนถึงตระนาว (ตะนาวศรี) เป็นที่หมายปลายทาง
              
*      สรรพ์สาระ
เขตตะนาวศรี ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของพม่า โดยทิศเหนือของเขตตะนาวศรีติดกับรัฐมอญ (Mon State) ทิศตะวันตกและทิศใต้ติดกับทะเลอันดามัน ส่วนทิศตะวันออกติดกับจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรีเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนองของไทย เขตตะนาวศรีมีพื้นที่ 43,328 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรกว่า 1.3 ล้านคน เมืองหลวง คือ เมืองทวาย (Dawei หรือ Tavoy) โดยแบ่งพื้นที่การปกครองเป็น
3 จังหวัด ได้แก่ ทวาย มะริด (Myeik) และเกาะสอง (Kawthaung) 10 อำเภอ 328 ตำบล เขตตะนาวศรีเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของพม่า เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ และ อัญมณีมีค่า ทรัพยากรประมง พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
ซึ่งดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

 
                                                       
              แผนที่เขตการปกครอง
                                                           ตะนาวศรี (แถบแดง)
๖.ข้อคิดที่ได้รับ
๑.      พระบารมีของพระมหากษัตริย์นั้นเกิดแต่การบำเพ็ญกุศลทั้งในกาลก่อนและกาลปัจจุบัน
๒.      ศิลปะการก่อสร้างที่ประณีตงดงาม  ย่อมเป็นสิ่งดลใจให้กวีสร้างสรรค์บทประพันธ์ที่ประณีตไปด้วย
๓.     วรรณคดีนิราศ แม้จะแสดงอารมณ์นึกคิดจินตนาการเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงบางประการของสังคมไว้ด้วย
๔.     คติความเชื่อของอินเดียโบราณ มีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยเป็นอันมาก ความเชื่อ ในเรื่องสวรรค์ คนไทยมีความเชื่อว่าคนที่ทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ คนทำชั่วจะตกนรก ดังนั้นจึงพยายามสร้างสมแต่สิ่งที่ดีงาม และมักจะเปรียบเทียบว่าถ้าเป็นของดี ของวิเศษ มักจะเปรียบกับของบนสวรรค์ ซึ่งตามความเชื่อของคนไทย สวรรค์แบ่งออกเป็น ๖ ชั้น ดังนี้
๕.๑ ตุมหาราชิกา เป็นที่อยู่ของท้าวโลกบาลทั้ง๔
๕.๒ ดาวดึงส์ เป็นที่สถิตของพระอินทร์
๕.๓ ยามะ อยู่สูงกว่าดวงอาทิตย์ เป็นที่อยู่ของสยามเทวาธิราช
๕.๔ ดุสิต เป็นที่อยู่ของ สัมดุสิตเทวราช เป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์
๕.๕ นิมมานรดี เป็นที่อยู่ของเทวดาที่สามารถเนรมิตสิ่งใดก็ได้ตามความต้องการ
๕.๖ ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด เป็นที่อยู่ของปรนิมมิตวสวัตตีเทพเจ้าและพระยามาราธิราช ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่มาร 


















๗.คำศัพท์และอธิบายความ
                ศรีสิทธิ์พิศาลภพ เลอหล้าลบล่มสวรรค์  จรรโลงโลกกว่ากว้าง  แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ 
ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า  แจกแสงจ้าเจิดจันทร์  เพียงรพิพรรณผ่องด้าว  ขุนหาญท้าวแหนบาท  สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน  ส่วนเศิกเหลี้ยนล่งหล้า  ราญราบหน้าเกริน  เข็ญข่าวยินยอบตัว  ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว  ทุกไทน้าวมาลย์น้อม  ขอออกอ้อมมาอ่อน  ผ่อนแผ่นดินให้ผาย  ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว  เลี้ยงทแกล้วให้กล้า  พระยศไท้เทิดฟ้า  เฟื่องฟุ้งทศธรรม  ท่านแฮ
                ขอความดีงามจงบังเกิดแก่แผ่นดินอันกว้างใหญ่ และประเสริฐยิ่งกว่าดินแดนในโลก จนอาจข่มสวรรค์ แผ่นดินนั้นเปรียบดังเมืองสวรรค์ ณ ยอดเขาพระสุเมรุ และ เป็นที่ค้ำจุนโลกอัน กว้างใหญ่ แผ่นดินที่กล่าวถึงนี้ คือ กรุงศรีอยุธยาอันเรืองรุ่งโรจน์ จับฟ้า และความสว่างรุ่งเรืองนั้นแจ่มแจ้งยิ่งกว่าแสงเดือน จะเปรียบได้ก็กับแสงตะวัน พระนครศรีอยุธยามีเสนาอำมาตย์คอยพิทักษ์รักษาพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงขจัดความทุกข์ของประชาราษฎร และทำลายข้าศึกให้สิ้นไป จนตลอดโลกก็ราบคาบเรียบดังหน้ากลอง บรรดาศัตรูเสี้ยนหนาม เพียงได้ยินชื่อกรุงศรีอยุธยาก็ต้องพากันน้อมตัวกราบไหว้กันอยู่ไสว เพราะความยำเกรง บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ก็ส่งดอกไม้ เครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอันพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ทรงขยายพระราชอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป ทรงจัดให้บ้านเมืองมีความสุขสงบราบคาบ พระองค์ก็ทรงทำนุบำรุงบรรดาทวยหาญให้มีน้ำใจแกล้วกล้า พระยศของพระองค์นั้นสูงเสมอท้องฟ้า และทศพิศราชธรรมที่ทรงบำเพ็ญนั้นก็เป็นที่ประจักษ์ตลอดพระราชอาณาเขตของพระองค์

คำศัพท์

ความหมาย
พิศาลภพ
แผ่นดินอันกว้างใหญ่
จรรโลงโลก
พยุงโลก ค้ำจุนโลก
แผ่นผ้าง
แผ่นพื้น
รพิพรรณ
แสงอาทิตย์
ละล้าว
เกรงกลัว
เข็ญข่าวยิน
ได้ฟังข่าวอันน่ากลัว
เลี้ยงทแกล้วให้กล้า
บำรุงทหารให้กล้าแข็ง
เภริน
กลอง

พระยศไท้เถิดฟ้า
พระเกียรติยศพระองค์ (ไท้) ชูเชิดถึงเมืองสวรรค์ (เทิดเชิด)

               



                                อยุธยายศล่มแล้ว                                        ลอยสวรรค์ ลงฤา
                    สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร-                               เจิดหล้า
                    บุญเพรงพระหากสรรค์                                  ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
                    บุญเพรงพระหากสรรค์                                  ฝึกฟื้นใจเมือง
ยศของกรุงศรีอยุธยาล่มแล้ว (หมายถึง เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า) แต่ที่แลเห็นรุ่งเรืองอยู่ดังนี้ ได้ลอยลงมาจากสวรรค์หรือหมายความว่าปราสาทราชวังงดงามวิเศษ แลตระการอยู่บนแผ่นดินบุญที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้แต่ปางก่อนช่วยให้พระองค์ได้บำรุงศาสนาให้รุ่งเรืองได้ปิดบังทางแห่งความล่มจม ทรงจัดการให้ใจเมือง (ประชาราษฎร) ตื่นขึ้นจากความหลงในการบาปต่างๆ

คำศัพท์

ความหมาย
บรรเจิดหล้า
งามในโลก
เพรง
เก่า ก่อน
บังอบาย
ปิดทางไปสู่ความชั่ว
เบิกฟ้า
เปิดทางไปสู่ความดี
ฝึกฟื้นใจเมือง
ฟื้นฟูจิตใจชาวเมืองให้พ้นจากความทุกข์
สิงหาสน์
(สิงห+อาสน์) ที่นั่งแห่งผู้มีอำนาจดังราชสีห์ คือ พระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดิน
ส่ายเศิก
สลัดข้าศึก
                                เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น                    พันแสง
                    รินรสพระธรรมแสดง                           ค่ำเช้า
                    เจดีย์ระดะแซง                                       เสียดยอด
                    ยลยิ่งแสงแก้วเก้า                                   แก่นหล้าหลากสวรรค์
                พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรื่องยิ่งกว่าแสงอาทิตย์ ประชาชนฟังธรรมะด้วยความซาบซึ้งใจ ทุกเช้าค่ำ เจดีย์มากมายสูงเสียดฟ้า แลดูเห็นแสงแวววาวยิ่งกว่าแสงจากแก้ว ๙ ประการ เป็นความงามที่โดดเด่นในโลก พระพุทธศาสนาเป็นหลักของโลก จนทำให้เป็นที่มหัศจรรย์แก่สวรรค์

คำศัพท์

ความหมาย
ไตรรัตน์
แก้วสามดวง คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์   หมายถึงพระพุทธศาสนา   
 พันแสง
พระอาทิตย์  
  รินรสพระธรรม
เกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรม  
 แก้วเก้า
แก้ว ๙ อย่างเรียกว่า นพรัตน์ คือ เพชร ทับทิม มรกด   บุษราคัม โกเมน นิล มุกคา เพทาย และไพฑูรย์  
แก่นเหล้า
เป็นแก่นโลก
หลากสวรรค์
ล้นฟ้า(หลาก = ท่วม ล้น แปลกประหลาดต่างๆ) พระพุทธศาสนารุ่งเรืองยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ มีการ แสดงธรรมทุกค่ำเช้า มีพระเจดีย์(ซึ่งเป็นเครื่องแสดง ความรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนา)ยอดออกกระกะ แลดูเห็นแสงแวววาวยิ่งกว่าแก้วเก้าประการ พระพุทธศาสนาเป็นหลักของโลก ทำให้เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่เทวดาบนสวรรค์

                                โบสถ์ระเบียงมณฑปฟื้น               ไพหาร
                    ธรรมาสน์ศาลาลาน                               พระแผ้ว
                    หอไตรระฆังขาน                                   ภายค่ำ
                    ไขประทีปโคมแก้ว                               ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์
                ระเบียงโบสถ์พื้นมณฑปและวิหารของศาสนสถานหรือวัดนั่นเอง เป็นการพรรณนาโวหารถึงวัตถุธรรมที่เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจคนในสังคมและบรรยายต่อถึงธรรมมาสน์ที่พระนั่งเทศนาสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนรวมทั้งองค์พระพุทธรูปที่เหลืองอร่ามผ่องแผ้วตั้งเป็นประธานอยู่ในโบสถ์หรือศาลาการเปรียญนั้นและบรรยายต่อถึงหอไตรที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก...รวมถึงหอระฆังสำหรับตีบอกเวลาทำวัตรแก่พระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในวัดทั้งเช้า..สาย..บ่าย..เย็น..ย่ำค่ำพูดถึงยามค่ำคืนในสมัยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้...ก็ใช้โคมไฟตะเกียงที่มีไส้และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ตามระยะแนวระเบียงทางเดิน โดยอุปมาอุปไมยถึงขนาดว่าแสงจากโคมนี้สว่างรุ่งเรืองจนถึงท้องฟ้าแทบกลบแสงจันทร์เสียสิ้น ซึ่งตรงนี้ออกจะเป็นอติพจน์คือคำพูดเกินจริงอยู่มาก...แต่ในอีกความหมายหนึ่งที่แฝงอยู่ก็คือแสงแห่งพุทธธรรมนั้นส่องโลกนี้(สอนสัตว์โลก)ให้สว่างไสวไปทั้งโลกถึงขนาดข่มแสงจันทร์เสียสิ้น(ด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่ - ปัญญาวิมุติ)


คำศัพท์

ความหมาย
โบสถ์
โรงที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรม
มรฑป
เดิมแปลว่าห้องโถง เราใช้หมายถึงสิ่งที่สร้างเป็นสี่เหลี่ยมยอดแหลม
ไพหาร
พิหาร วิหาร วัด ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่กับโบสถ์
เฟือน
ทำให้หมองลง
                                จำใจจากแม่เปลื้อง                         ปลิดอก อรเอย
                    เยียวว่าแดเดียวยก                                           แยกได้
                    สองซีกแล่งทรวงตก                                       แตกภาค  ออกแม่
                    ภาคพี่ไปหนึ่งไว้                                             แนบเนื้อนวลถนอม
                จำใจจากน้องด้วยความอาลัย ราวกับปลิดหัวใจพี่ไปจากนาง หากว่าหัวใจของพี่แบ่งเป็นสองซีกได้ ซีกหนึ่งจะเอาไว้กับตัว อีกซีกหนึ่งฝากไว้กับนาง

คำศัพท์

ความหาย
เยียวว่า
ถ้าว่า แม้ว่า
แล้ง
ผ่าออก
                                โฉมควรจักฝากฟ้า                        ฤาดิน ดีฤา
                    เกรงเทพไท้ธรณินทร์                           ลอบกล้ำ
                    ฝากลมเลื่อนโฉมบิน                            บนเล่า  นะแม่
                    ลมจะชายชักช้ำ                                    ชอกเนื้อเรียมสงวน
                ควรจะฝากนางไว้กับฟ้าหรือกับดิน หากฝากไว้กับฟ้าเกรงว่าเทวดาจะลอบมาชนเชยนางหรือจะฝากไว้กับดินก็หวั่นว่าพระเจ้าแผ่นดินจะมาเชยชม ครั้นจะฝากให้ลมพานางไว้เบื้องบนก็เกรงว่าลมจะพัดจนร่างของนางบอบช้ำ

คำศัพท์

ความหมาย
ธรณินทร์
ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
กล้ำ
เชยชม
เลื่อน
พาไป
ชาย
พัด

                                ฝากอุมาสมรแม่แล้                     ลักษมี  เล่านา
                    ทราบสวยภูวจักรี                               เกลือกใกล้
                    เรียมคิดจนจบตรี                               โลกล่วง  แล้วแม่
                    โฉมฝากใจแม่ได้                               ยิ่งด้วยใครครอง
                จะฝากนางไว้กับพระนางอุมาก็เกรงว่าพระอิศวรจะมาเชยชม ครั้งจะฝากกับพระนางลักษมี ก็เกรงว่าพระนารายณ์จะมาลอบชม พี่ใคร่ครวญถึงใครต่อใครจนหมดสิ้นสามโลกแล้วจึงคิดว่าขอฝากนางไว้กับนางเองดีที่สุด

คำศัพท์

ความหมาย
อุมา
คือ พระอุมา ชายยาพระอิศวร
ลักษมี
คือ พระลักษมี ชายยาพระนารายณ์
สวยมภูว
พระผู้เป็นเองคือ พระอิศวร
จักรี
ผู้ทรงจักร คือ พระนารายณ์
เกลือก
หาก บางที
ตรีโลก
สามโลก คือ มนุษย์ สวรรค์ บาดาล
                                  จากมามาลิ่วล้ำ                       ลำบาง
                    บางยี่เรือราพลาง                              พี่พร้อง
                    เรือแผงช่วยพานาง                           เมียงม่าน  มานา
                    บางบ่รับคำคล้อง                             คล่าวน้ำตาคลอ
                พี่จากนางมาไกล ถึงบางยี่เรือ พี่อยากจะฝากให้เรือช่วยพานางแอบหลังม่ายมาด้วยแต่ไม่มีผู้ใดรับคำฝากของพี่ น้ำตาจึงไหลคลอเบ้า

คำศัพท์

ความหมาย
เมียงม่าน
แอบมองหลังม่าน
คล่าว
ไหลหลั่ง
เรือแผง
เรือมีม่านบัง สำหรับกุลสตรีในสมัยก่อนนั่ง
คล้อง
รับ

               


                                บ้านบ่อน้ำบกแห้ง                           ไป่เห็น
                    บ่อเนตรคงขังเป็น                                            เลือดไล้
                    อ้าโฉมแม่แบบเบญ-                                        จลักษณ์  เรียมเอย
                    มาซับอัสสุชลให้                                             พี่แล้วจักลา
                เรือมาถึงตำบลบ้านบ่อซึ่งน้ำแห้งหมด ไม่มีน้ำให้เห็นเลย มีแต่น้ำตาของพี่ที่เป็นเลือดไหลลามไปทั่ว นางผู้เป็นเบจญกัลยานีโปรดช่วยซับน้ำตาให้พี่ด้วย

คำศัพท์

ความหมาย
บก
แห้ง
ไล้
ลูบหรือทาละเลง
                                ตราบขุนคิริข้น                      ขาดสลาย  แลแม่
                    รักบ่หายตราบหาย                        หกฟ้า
                    สุริยจันทรขจาย                            จากโลก  ไปฤา
                    ไฟแล่นล้างสี่หล้า                          ห่อนล้างอาลัย
                แม้ภูเขาจะทลายลง สวรรค์ทั้งหกชั้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ สูญหายไปจากโลกนี้ ไฟไหม้ทวีปทั้งสี่จนหมดสิ้น แต่ความรักความอาลัยของพี่ที่มีต่อน้องไม่มีวันหมด

คำศัพท์

ความหมาย
ข้น
มาจากโค่น หมายถึง ล้ม ทลายลง
หกฟ้า
สวรรค์ชั้น ๖
               








.บทวิเคราะห์
๑) การเลือกสรรคำ
โคลงไพเราะตอนหนึ่งคือ   ตอนฝากนาง   แนวคิดแบบกำศรวลศรีปราชญ์   แต่อรรถรสพริ้งกว่ามาก
โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ             แลโลม    โลกเอย
แม้ว่ามีกิ่งโพยม                                   ยื่นหล้า
แขวนขวัญนุชชูโฉม                           แมกเมฆ    ไว้แม่
กีดบ่มีกิ่งฟ้า                                          ฝากน้องนางเดียว
                ความงามของร้อยกรองในด้านการเสนอเนื้อเรื่องกระชับเข้มข้น   อันจักทำได้เพราะการกำหนดคณะ    จำกัดคำตามลักษณะการแต่ง   เพราะฉะนั้นกวีจึงต้องเลือกคำที่มีความหมายชัดเจน   ท่วงทำนองเขียนสละสลวย   อ่อนหวาน   นุ่มนวล   เพราะพริ้ง   ช่างเปรียบเทียบ เล่นคำที่ไม่มีบัญญัติบังคับ    การเล่นคำประเภทนี้หมายถึงว่า   กวีผู้แต่งสมัครใจจะเล่นถ้อยคำเองไม่มีบัญญัติบังคับไว้    โดยมุ่งหมายจะให้คำประพันธ์ตอนใดตอนหนึ่งเด่นชัดขึ้น   และมีความไพเราะจับใจยิ่งขึ้น   ผู้อ่านจะได้รับรสแห่งความอ่อนหวานของถ้อยคำและโวหารกวี ที่แสดงถึงความรัก ความห่วงหาอาทรที่มีต่อนางอันเป็นที่รัก
                ๒) การใช้กวีโวหาร  หรือภาพพจน์
ธรรมดาโคลงนิราศมักพิถีพิถันที่จะแสดงรสรักรสอาลัยเป็นสำคัญ    นายนรินทร์ฯ มีความรู้สึกเรื่องนี้สูง   และระบายออกมางดงามมาก   พรั่งพร้อมไปด้วยการเปรียบเทียบและจินตนาการสูง    โคลงเช่นนี้มีอยู่หลายบท   เช่น
เอียงอกเทออกอ้าง                                               อวดองค์ อรเอย
เมรุชุบสมุทรดินลง                                                             เลขแต้ม
อากาศจักจานผจง                                                                จารึก    พอฤๅ
โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม                                                          อยู่ร้อนฤๅเห็น
การพรรณนาอย่างต้องตีความ   จึงจะเข้าใจความหมายชัดเจน การใช้โวหารที่ไพเราะกินใจ   เพิ่มความไพเราะให้แก่บทกวียิ่งขึ้นโวหารแสดงความรู้สึกในความทุกข์และความอาลัยได้อย่างดี   กระบวนโคลงและทำนองเขียนนั้นน่าฟัง  
ตราบขุนคิริข้น                ขาดสลาย  แลแม่                   
รักบ่หายตราบหาย                        หกฟ้า
สุริยจันทรขจาย                             จากโลก  ไปฤา
ไฟแล่นล้างสี่หล้า                           ห่อนล้างอาลัย
โคลงบทนี้เป็นการกล่าวเกินจริงเพื่อสร้างอารมณ์และความรู้สึกแก้ผู้อ่าน และโคลงนี้ปิดฉากการคร่ำครวญได้อย่างงดงาม
                ๓)ด้านสังคม สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ ๒ และบ้านเมืองมีความสวยงามเต็มไปด้วยวัฒนธรรมจริยธรรม พุทธศาสนารุ่งเรื่อง และบ้านเมืองมีแต่ความสงบสุข

. ความรู้เพิ่มเติม
*   สรรพ์สาระ
เขาพระสุเมรุ และสวรรค์ ๖ ชั้น
                เขาพระสุเมรุ ตามคติในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา คือภูเขาที่เป็นหลักของโลก ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ นับแต่สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน ไปถึงมนุษย์นาค ครุฑ ยักษ์มาร คนธรรพ์ ฤๅษี และเทวดา โดยมีปลาอานนท์หนุนอยู่ รอบๆ เขาพระสุเมรุ
ดาวดึงส์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ ฉกามาพจร ซึ่งมีทังหมด ๖ ชั้น ดังนี้
๑.      จาตุมหาราชิกา เป็นชั้นที่อยู่บริเวณรอบ ๆ เขาพระสุเมรุ แบ่งออกเป็น 4 อาณาบริเวณ คือ เขตการปกครองคนธรรพ์ ยักษ์ นาค และผีเสื้อกับกุมภัณฑ์ เทวดาชั้นนี้จะมีอายุ หรือ 9 ล้านปีมนุษย์ มีท้าวมหาราชทั้ง 4 คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร เป็นจอมเทพในทิศของตน
๒.     ดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ชั้นที่อยู่ของพระอินทร์หรือท้าวสักกะเป็นจอมเทพ และมีบริวารอีก 32 องค์รวมดูแล ซึ่งในอดีตชาติเป็นมฆมานพและสหายอีก 32 คนที่ร่วมกันทำความดีด้วยการสร้างถนนสาธารณะ
๓.     ยามา เป็นสวรรค์ชั้นที่อยู่สูงกว่าวงโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ทำให้ไม่มีแสงสว่าง เทวดาเห็นกันด้วยรัศมีของตนเอง ผู้ปกครองยามาภูมิคือท้าวสุยามะ
๔.      ดุสิต เป็นสวรรค์ที่ประทับพระโพธิสัตว์และว่าที่พระพุทธบิดาและพระพุทธมารดา มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ
๕.     นิมมานรดี เป็นชั้นที่ เทวดาสามารถเนรมิตสิ่งของตามประสงค์ได้ มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ
๖.       ปรนิมมิตวสวัตดี เป็นสววรค์ชั้นที่ ประเสริฐที่สุด มีท้าววสวัตตีซึ่งเป็นเทพบุตรมารเป็นจอมเทพ




*      สรรพ์สาระ
นิราศบางเรื่อง
                โคลงนิราศหริภุญชัย โคลงหริภุญชัย เดิมแต่งเป็นโคลงไทยเหนือ ต่อมามีผู้ถอดเป็นโคลงสี่สุภาพสันนิษฐานว่ามีผู้แต่งคนหนึ่ง อาจชื่อทิพหรือศรีทิพแต่งไว้เป็นภาษาไทยเหนือ ต่อมามีผู้ถอดความออกเป็นภาษาไทยกลางอีกต่อหนึ่ง ผู้แต่งมีความมุ่งหมายเพื่อบรรยายความรู้สึกที่ต้องจากหญิงที่รักไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย ส่วนผู้ถอดโคลงนี้เป็นภาษาไทยกลางแต่ไม่ปรากฏชื่อคงมีความประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์ใดองค์หนึ่ง
                กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงนิพนธ์ขึ้นเมื่อตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี มีเนื้อหาเป็นการพรรณนาถึงนางอันเป็นที่รักตามระยะเวลาเป็นโมง ยาม วัน ฤดู เดือน ปี แต่ไม่ได้กล่าวถึงสถานที่ที่ผ่านไปและไม่ได้จากนางจริง
                นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน เพื่อเล่าเรื่องการเดินทางโดยเรือสำเภาไปกรุงปักกิ่งกับคณะราชทูตไทย ซึ่งไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีน เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 10 ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. 2324 เป็นวรรณคดีนิราศ แต่เป็นนิราศเล่าเรื่องการเดินทาง ไม่มีการพรรณนาความรักถึงหญิงคนรักเหมือนนิราศเรื่องอื่นๆ
                นิราศลอนดอน เพื่อพรรณนาและบรรยาย ถึงเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเดินทางของผู้แต่ง
                โคลงกำสรวล เพื่อแสดงความอาลัยคนรัก ซึ่งผู้แต่งต้องจากไป
                กลอนเพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง ทรงพระราชนิพนธ์เสด็จกรีฑาทัพไปตีพม่าที่ท่าดินแดง ปลายน้ำไทรโยคจังหวัดกาญจนบุรี เป็นนิราศเรื่องแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์ได้ไพเราะ มีความเปรียบเทียบดี นับเป็นนิราศเรื่องแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทย


บรรณานุกรม  
กัลยา สหชาติโกสีย์  นิราศนรินทร์คำโคลง ใน ภาษาไทยวรรณคดีและวรรณกรรมม.๔.  หน่วย๔ หน้า๑๑๖-๑๔๓.  เอกรินทร์ สี่มหาศาล,บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ อักษรเจริญทัศน์ อจท.จำกัด
ทรูปลูกปัญญา.วิธีสืบค้นเรื่องนิราศนรินทร์คำโคลง.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก   http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/2269-00/ (วันที่ลืบค้น ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙)
ปัทมะ ไตรสนธิ.วิธีสืบค้นข้อคิดจากนิราศนรินทร์คำโคลง.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/114205&usg=AFQjCNG2U5sSMzD5DiZr1_2qCKm9X8sICA
(วันที่สืบค้น ๒มิถุนายน ๒๕๕๙)
สดายุ.วิธีสืบค้นเรื่องนิราศนรินทร์คำโคลง.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=sdayoo&month=07-2007&date=11&group=25&gblog=1

(สืบค้นวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙)